วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เลือกสถาปนิกคนไหนดี

คนที่มีประสพการณ์ในการทำงานกับสถาปนิกคงเข้าใจดีเวลาที่มีคนพูดว่า หาสถาปนิกก็เหมือนหาคู่แต่งงาน ที่เป็นอย่างที่เค้าว่าก็เพราะเจ้าของบ้านต้องใช้เวลาทำงานกับสถาปนิกค่อนข้างมากค่ะ และต้องมีการสื่อสารที่เข้าใจกัน ถ้าชอบแบบบ้านในแนวทางใกล้เคียงกันก็จะค่อนข้างง่าย เหมือนพูดภาษาเดียวกัน เพราะอย่างงั้นการเลือกสถาปนิกที่ถูกจริตกับเราก็ค่อนข้างมีความสำคัญ

สถาปนิกบางคนถนัดออกแบบงานหรูหรา อลังการ งานแกรนด์ เช่นออกแบบโรงแรมหรู ก็อาจไม่ถนัดกับการออกแบบบ้านเล็กๆที่อบอุ่นcozy เพราะการออกแบบเชิงcommercial ก็ต่างจากresidentialที่เป็นที่อยู่อาศัย เช่นการออกแบบlobbyของโรงแรมห้าดาวต้องการความโอ่อ่า ประทับใจแรกพบ ก็จะแตกต่างกับการออกแบบบ้านที่เจ้าของบ้านต้องเห็นอยู่ทุกวันและ ต้องรู้สึกดีทุกวัน นอกจากคุณต้องการบ้านประเภทโอ่อ่าใหญ่โต เพื่อประทับใจแขกสำคัญ สถาปนิกที่ออกแบบโรงแรมก็อาจจะใช่สำหรับคุณก็ได้ค่ะ

อยากจะแนะนำว่าก่อนตัดสินใจเลือกสถาปนิกคนไหน เราก็ควรต้องทำการบ้านซะก่อนนะคะ เพราะต่างคนก็มีความชอบและความคาดหวังจากสถาปนิกแตกต่างกัน คนที่เพื่อนเราชอบก็ไม่ได้แปลว่าจะออกแบบให้เราได้ถูกใจ เพื่อกันความผิดพลาดจะลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้ดูก็ได้ค่ะ

1. สำรวจความต้องการของตัวเองว่าต้องการบ้านแบบไหนก่อนเลือกสถาปนิก

เจ้าของบ้านน่าจะต้องมีความชัดเจนในระดับนึงว่าตัวเองอยากสร้างบ้านสไตล์ไหน (เราหวังว่าเจ้าของบ้านจะพิจารณาด้วยว่า สไตล์ของบ้านนั้นจะเหมาะสมกับสภาพที่ดินและกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ) เพราะถ้าเรามีสไตล์ของบ้านในใจอย่างชัดเจน ก็จะทำให้หาสถาปนิกที่มีprofileของงานที่ใกล้เคียงกับแบบบ้านที่เราอยากได้ อันนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงจากความผิดหวังและการเสียเวลา


ถึงแม้สถาปนิกหลายคนอาจจะบอกว่าสามารถออกแบบบ้านได้ทุกแนว ซึ่งตามหลักแล้วก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่การออกแบบบ้านเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และในด้านความเป็นศิลปะนี่แหละที่ทำให้แต่ละสถาปนิกมีความแตกต่างกัน บางคนชอบแนวโมเดิร์นก็จะมีความสนใจติดตามผลงานแนวโมเดิร์นอย่างใกล้ชิด ดังนั้นก็จะมีแนวโน้มที่จะมีไอเดียในหัวเก็บสะสมไว้ค่อนข้างมาก และคุ้นเคยกับวัสดุที่ใช้สร้างบ้านแบบโมเดิร์น ก็จะทำให้สามารถออกแบบบ้านแนวนี้ได้ดีและใช้เวลาไม่นานนัก แต่ถ้าจะให้สถาปนิกคนเดียวกันนี้ไปออกแบบแนวบ้านสไตล์ไทยประยุกต์ เค้าก็น่าจะทำได้เหมือนกัน แต่ก็อาจจะไม่ดีเท่าสถาปนิกแถวเชียงใหม่หลายคนที่ถนัดแนวนี้โดยตรง และคุ้นเคยกับวัสดุท้องถิ่นที่เข้ากับบ้านสไตล์ไทยประยุกต์มากกว่า


2. เริ่มสะสมรายชื่อสถาปนิกที่เราชอบผลงาน

เนื่องจากเราไม่ค่อยรู้จักสถาปนิกนัก และก็ไม่มีconnectionในวงการสถาปนิก เราก็เลยใช้วิธีดูผลงานของสถาปนิกจากบ้านที่เราชื่นชอบตามหน้านิตยสารแต่งบ้านทั้งหลาย แล้วก็เอาชื่อเหล่านั้นมาsearch googleเพิ่มเติม ซึ่งบางชื่อก็โชคดีที่ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการประมวลความสนใจขั้นต้น

นอกจากดูตามนิตยสารแล้ว เราก็ขอตะเวนดูบ้านเพื่อนๆที่มีการจ้างสถาปนิก อันนี้นอกจากได้ดูฝีมือสถาปนิกแล้ว ยังได้ฟังประสพการณ์ในการทำงานร่วมกับสถาปนิก และบทเรียนจากความผิดพลาดในด้านต่างๆด้วยค่ะ

3. นัดพบ พูดคุยกับ สถาปนิกหลายๆคนที่เราสะสมชื่อไว้

อย่างที่มีคนพูดว่าการหาสถาปนิกก็เหมือนกับการหาคู่ การนัดพูดคุยกับสถาปนิกมีความสำคัญมาก เพราะ นอกจากจะเป็นการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับprofileงานออกแบบที่ผ่านมาแล้ว เรายังควรจะประเมินว่าเราจะรู้สึกดีที่จะทำงานร่วมกับคนๆนี้ในระยะยาวรึไม่ เราจะคุยกันเข้าใจมั้ย เราจะรู้สึกcomfortableที่จะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างมั้ย เรารู้สึกว่าสถาปนิกคนนี้พร้อมจะรับฟังความต้องการ หรือข้อจำกัดของเราหรือไม่

สำหรับตัวเองแล้วมีความคาดหวังจากสถาปนิกค่อนข้างมาก ที่จริงแล้วคิดว่าการออกแบบบ้านแนวโมเดิร์นที่เรามีอยู่ในใจไม่น่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับสถาปนิก เท่าที่ดูมาก็มีผลงานในแนวทางนี้ที่น่าประทับใจอยู่หลายคน แต่ที่ต้องการมากเป็นพิเศษจากสถาปนิกคือความเต็มใจที่จะทำงานบนข้อจำกัดหลายๆอย่างของเรา เช่นเราต้องการรักษาต้นไม้ใหญ่หลายต้นในเนื้อที่ ทำให้สถาปนิกต้องเพิ่มข้อจำกัดในการออกแบบและวางแปลนบ้านเพื่อหลบต้นไม้ หรือเราอยากจะเอาประตูไม้สักบานเฟี้ยมเก่าที่หายาก และเราสะสมมานาน หลากหลายบานมาใช้ในแบบบ้านโมเดิร์น ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ยุ่งยากขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นถ้าสถาปนิกไม่รู้สึกเห็นพ้องด้วย ก็จะทำงานด้วยกันไม่สนุกเท่าที่ควร

โจทย์อีกอย่างนึงของเราก็คือต้องการควบคุมงบประมาณการก่อสร้างให้มากที่สุด เพราะเราเชื่อว่าบ้านสวย ไอเดียดีไม่จำเป็นต้องแพง ดังนั้นเราก็จะคาดหวังเป็นพิเศษที่สถาปนิกจะช่วยแนะนำวัสดุดีๆในราคาไม่แพงเราก็เลยอยากได้สถาปนิกที่เข้าใจและเต็มใจช่วยเหลือเราในเรื่องนี้ด้วย

สำหรับคนที่กำลังมองหาสถาปนิก ก็ลองคิดทบทวนเยอะๆนะคะว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากสถาปนิกเป็นพิเศษในเรื่องอะไรบ้าง แล้วก็เลือกคนที่เราสบายใจที่จะทำงานด้วยค่ะ ที่สำคัญอย่าลืมสอบถามค่าใช้จ่ายไว้ให้ชัดเจนนะคะ เพราะแต่ละคนก็จะมีrateที่อาจจะแตกต่างกันบ้าง ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงค่ะ โดยภาพรวมก็น่าจะอยู่ที่5-10%ของงบก่อสร้าง

ขอแชร์ว่าคนที่มีชื่อเสียงกว่า แพงกว่าไม่ได้หมายความเสมอไปว่าจะออกแบบบ้านเราได้ถูกใจมากกว่านะคะ

เกือบลืมไปค่ะ ขอบอกว่าเวลานัดคุยทาบทามสถาปนิก อยากแชร์ว่าควรจะต้องให้เกียรติสถาปนิกหน่อยค่ะ เพราะอาชีพนี้จัดว่าเป็นศิลปินประเภทนึง สถาปนิกเก่งๆก็มีแนวโน้มมีอารมณ์ศิลปิน คือถ้าอยากให้เค้าทำงานให้เรา ก็ต้องให้เค้ารู้สึกว่างานของเรามันน่าทำด้วยค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเค้ามีแรงบันดาลใจในการทำงานให้เราโอกาสที่งานจะดีมันก็เยอะค่ะ แต่ถ้าครั้งแรกที่เจอกัน เรามัวแต่ต่อรองเรื่องค่าออกแบบ ก็ลองคิดดูแลวกันนะคะว่าเค้าจะอยากทำกับเรามั้ย ถ้าอยากได้แต่ค่าออกแบบถูกๆ ก็มีแนวโน้มที่จะได้งานแบบชุ่ยๆนะคะ อันนี้มันก็you get what you payค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น