วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เลือกสถาปนิกคนไหนดี

คนที่มีประสพการณ์ในการทำงานกับสถาปนิกคงเข้าใจดีเวลาที่มีคนพูดว่า หาสถาปนิกก็เหมือนหาคู่แต่งงาน ที่เป็นอย่างที่เค้าว่าก็เพราะเจ้าของบ้านต้องใช้เวลาทำงานกับสถาปนิกค่อนข้างมากค่ะ และต้องมีการสื่อสารที่เข้าใจกัน ถ้าชอบแบบบ้านในแนวทางใกล้เคียงกันก็จะค่อนข้างง่าย เหมือนพูดภาษาเดียวกัน เพราะอย่างงั้นการเลือกสถาปนิกที่ถูกจริตกับเราก็ค่อนข้างมีความสำคัญ

สถาปนิกบางคนถนัดออกแบบงานหรูหรา อลังการ งานแกรนด์ เช่นออกแบบโรงแรมหรู ก็อาจไม่ถนัดกับการออกแบบบ้านเล็กๆที่อบอุ่นcozy เพราะการออกแบบเชิงcommercial ก็ต่างจากresidentialที่เป็นที่อยู่อาศัย เช่นการออกแบบlobbyของโรงแรมห้าดาวต้องการความโอ่อ่า ประทับใจแรกพบ ก็จะแตกต่างกับการออกแบบบ้านที่เจ้าของบ้านต้องเห็นอยู่ทุกวันและ ต้องรู้สึกดีทุกวัน นอกจากคุณต้องการบ้านประเภทโอ่อ่าใหญ่โต เพื่อประทับใจแขกสำคัญ สถาปนิกที่ออกแบบโรงแรมก็อาจจะใช่สำหรับคุณก็ได้ค่ะ

อยากจะแนะนำว่าก่อนตัดสินใจเลือกสถาปนิกคนไหน เราก็ควรต้องทำการบ้านซะก่อนนะคะ เพราะต่างคนก็มีความชอบและความคาดหวังจากสถาปนิกแตกต่างกัน คนที่เพื่อนเราชอบก็ไม่ได้แปลว่าจะออกแบบให้เราได้ถูกใจ เพื่อกันความผิดพลาดจะลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้ดูก็ได้ค่ะ

1. สำรวจความต้องการของตัวเองว่าต้องการบ้านแบบไหนก่อนเลือกสถาปนิก

เจ้าของบ้านน่าจะต้องมีความชัดเจนในระดับนึงว่าตัวเองอยากสร้างบ้านสไตล์ไหน (เราหวังว่าเจ้าของบ้านจะพิจารณาด้วยว่า สไตล์ของบ้านนั้นจะเหมาะสมกับสภาพที่ดินและกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ) เพราะถ้าเรามีสไตล์ของบ้านในใจอย่างชัดเจน ก็จะทำให้หาสถาปนิกที่มีprofileของงานที่ใกล้เคียงกับแบบบ้านที่เราอยากได้ อันนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงจากความผิดหวังและการเสียเวลา


ถึงแม้สถาปนิกหลายคนอาจจะบอกว่าสามารถออกแบบบ้านได้ทุกแนว ซึ่งตามหลักแล้วก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่การออกแบบบ้านเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และในด้านความเป็นศิลปะนี่แหละที่ทำให้แต่ละสถาปนิกมีความแตกต่างกัน บางคนชอบแนวโมเดิร์นก็จะมีความสนใจติดตามผลงานแนวโมเดิร์นอย่างใกล้ชิด ดังนั้นก็จะมีแนวโน้มที่จะมีไอเดียในหัวเก็บสะสมไว้ค่อนข้างมาก และคุ้นเคยกับวัสดุที่ใช้สร้างบ้านแบบโมเดิร์น ก็จะทำให้สามารถออกแบบบ้านแนวนี้ได้ดีและใช้เวลาไม่นานนัก แต่ถ้าจะให้สถาปนิกคนเดียวกันนี้ไปออกแบบแนวบ้านสไตล์ไทยประยุกต์ เค้าก็น่าจะทำได้เหมือนกัน แต่ก็อาจจะไม่ดีเท่าสถาปนิกแถวเชียงใหม่หลายคนที่ถนัดแนวนี้โดยตรง และคุ้นเคยกับวัสดุท้องถิ่นที่เข้ากับบ้านสไตล์ไทยประยุกต์มากกว่า


2. เริ่มสะสมรายชื่อสถาปนิกที่เราชอบผลงาน

เนื่องจากเราไม่ค่อยรู้จักสถาปนิกนัก และก็ไม่มีconnectionในวงการสถาปนิก เราก็เลยใช้วิธีดูผลงานของสถาปนิกจากบ้านที่เราชื่นชอบตามหน้านิตยสารแต่งบ้านทั้งหลาย แล้วก็เอาชื่อเหล่านั้นมาsearch googleเพิ่มเติม ซึ่งบางชื่อก็โชคดีที่ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการประมวลความสนใจขั้นต้น

นอกจากดูตามนิตยสารแล้ว เราก็ขอตะเวนดูบ้านเพื่อนๆที่มีการจ้างสถาปนิก อันนี้นอกจากได้ดูฝีมือสถาปนิกแล้ว ยังได้ฟังประสพการณ์ในการทำงานร่วมกับสถาปนิก และบทเรียนจากความผิดพลาดในด้านต่างๆด้วยค่ะ

3. นัดพบ พูดคุยกับ สถาปนิกหลายๆคนที่เราสะสมชื่อไว้

อย่างที่มีคนพูดว่าการหาสถาปนิกก็เหมือนกับการหาคู่ การนัดพูดคุยกับสถาปนิกมีความสำคัญมาก เพราะ นอกจากจะเป็นการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับprofileงานออกแบบที่ผ่านมาแล้ว เรายังควรจะประเมินว่าเราจะรู้สึกดีที่จะทำงานร่วมกับคนๆนี้ในระยะยาวรึไม่ เราจะคุยกันเข้าใจมั้ย เราจะรู้สึกcomfortableที่จะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างมั้ย เรารู้สึกว่าสถาปนิกคนนี้พร้อมจะรับฟังความต้องการ หรือข้อจำกัดของเราหรือไม่

สำหรับตัวเองแล้วมีความคาดหวังจากสถาปนิกค่อนข้างมาก ที่จริงแล้วคิดว่าการออกแบบบ้านแนวโมเดิร์นที่เรามีอยู่ในใจไม่น่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับสถาปนิก เท่าที่ดูมาก็มีผลงานในแนวทางนี้ที่น่าประทับใจอยู่หลายคน แต่ที่ต้องการมากเป็นพิเศษจากสถาปนิกคือความเต็มใจที่จะทำงานบนข้อจำกัดหลายๆอย่างของเรา เช่นเราต้องการรักษาต้นไม้ใหญ่หลายต้นในเนื้อที่ ทำให้สถาปนิกต้องเพิ่มข้อจำกัดในการออกแบบและวางแปลนบ้านเพื่อหลบต้นไม้ หรือเราอยากจะเอาประตูไม้สักบานเฟี้ยมเก่าที่หายาก และเราสะสมมานาน หลากหลายบานมาใช้ในแบบบ้านโมเดิร์น ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ยุ่งยากขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นถ้าสถาปนิกไม่รู้สึกเห็นพ้องด้วย ก็จะทำงานด้วยกันไม่สนุกเท่าที่ควร

โจทย์อีกอย่างนึงของเราก็คือต้องการควบคุมงบประมาณการก่อสร้างให้มากที่สุด เพราะเราเชื่อว่าบ้านสวย ไอเดียดีไม่จำเป็นต้องแพง ดังนั้นเราก็จะคาดหวังเป็นพิเศษที่สถาปนิกจะช่วยแนะนำวัสดุดีๆในราคาไม่แพงเราก็เลยอยากได้สถาปนิกที่เข้าใจและเต็มใจช่วยเหลือเราในเรื่องนี้ด้วย

สำหรับคนที่กำลังมองหาสถาปนิก ก็ลองคิดทบทวนเยอะๆนะคะว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากสถาปนิกเป็นพิเศษในเรื่องอะไรบ้าง แล้วก็เลือกคนที่เราสบายใจที่จะทำงานด้วยค่ะ ที่สำคัญอย่าลืมสอบถามค่าใช้จ่ายไว้ให้ชัดเจนนะคะ เพราะแต่ละคนก็จะมีrateที่อาจจะแตกต่างกันบ้าง ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงค่ะ โดยภาพรวมก็น่าจะอยู่ที่5-10%ของงบก่อสร้าง

ขอแชร์ว่าคนที่มีชื่อเสียงกว่า แพงกว่าไม่ได้หมายความเสมอไปว่าจะออกแบบบ้านเราได้ถูกใจมากกว่านะคะ

เกือบลืมไปค่ะ ขอบอกว่าเวลานัดคุยทาบทามสถาปนิก อยากแชร์ว่าควรจะต้องให้เกียรติสถาปนิกหน่อยค่ะ เพราะอาชีพนี้จัดว่าเป็นศิลปินประเภทนึง สถาปนิกเก่งๆก็มีแนวโน้มมีอารมณ์ศิลปิน คือถ้าอยากให้เค้าทำงานให้เรา ก็ต้องให้เค้ารู้สึกว่างานของเรามันน่าทำด้วยค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเค้ามีแรงบันดาลใจในการทำงานให้เราโอกาสที่งานจะดีมันก็เยอะค่ะ แต่ถ้าครั้งแรกที่เจอกัน เรามัวแต่ต่อรองเรื่องค่าออกแบบ ก็ลองคิดดูแลวกันนะคะว่าเค้าจะอยากทำกับเรามั้ย ถ้าอยากได้แต่ค่าออกแบบถูกๆ ก็มีแนวโน้มที่จะได้งานแบบชุ่ยๆนะคะ อันนี้มันก็you get what you payค่ะ

ทำไมต้องมีสถาปนิก

หลายคนอาจจะคิดว่าเราเองก็เป็นสถาปนึกเองก็ได้ ไม่เห็นต้องจ้างให้เปลืองตังค์เลย เราเป็นคนนึงที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้อย่างยิ่ง เพราะจากประสพการณ์ของเราที่ได้ดูได้อ่านหนังสือ นิตยสารประเภท House & Garden , Architecture, House Decoration ได้อ่านได้ฟังสารพัดปํญหาเรื่องบ้าน มาร่วมหลายสิบปี เรายิ่งเห็นความสำคัญของการมีสถาปนิกค่ะ

ขอรวบรวมข้อดีของการมีสถาปนิกเอาไว้คร่าวๆเท่าที่นึกออกไว้ดังนี้นะคะ

  • สถาปนิกจะช่วยแปลความต้องการที่เฉพาะเจาะจง และแตกต่างหลากหลายให้เป็นรูปธรรม
หลายครั้งที่เรามีไอเดียแบบบ้านในฝัน แต่ไม่ชัดเจน เหมือนมีภาพjigsawเป็นชิ้นๆ มีทั้งไอเดียที่เป็นรายละเอียดเล็กๆ เช่นอยากมีห้องน้ำที่ฝักบัวลงมาจากเพดาน บางครั้งก็เป็นบรรยากาศหรือความรู้สึกรวมๆ เช่นอยากได้บ้านแบบLoft อบอุ่นและดูไทยๆ บางทีความต้องการก็แตกต่างหลากหลาย เจ้าของบ้าน2คนชอบอะไรที่ไม่เหมือนกัน คนนึงชอบแนวminimal อีกคนชอบcozy สถาปนิกก็มีหน้าที่ที่จะประสานไอเดียและตอบสนองความต้องการที่แตกต่างหลากหลายให้ออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในที่สุด ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หรืออาจจะแทบเป็นไปไม่ได้เลยถ้าใช้แบบบ้านสำเร็จรูป
  • สถาปนิกที่ดีจะช่วยออกแบบบ้านให้ไม่เพียงตอบสนองด้านฟังก์ชั่น แต่ทำให้รูปลักษณ์ดูดีทั้งภายในและภายนอก และคุ้มค่าในระยะยาว
ทั้งรูปลักษณ์หน้าตาภายในและภายนอกของบ้าน และการอยู่สบายมีความสำคัญพอๆกัน ถ้าเราเข้าใจความต้องการของตัวเองเป็นอย่างดี ก็อาจดัดแปลงแบบบ้านด้วยตัวเองให้น่าอยู่ได้ไม่ยากนัก แต่การออกแบบบ้านตั้งแต่ต้น รวมทั้งวางระบบน้ำ ไฟ สาธารณูปโภค และเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ทั้งสวยงาม อยู่สบาย มีพื้นที่ใช้สอยในขนาดที่เหมาะสม และออกแบบให้เข้ากับlifestyle ของเจ้าของบ้านในระยะยาว มีความแข็งแรง ปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และใช้งบประมาณการก่อสร้างที่เหมาะสม จำเป็นจะต้องได้ผู้เชี่ยวชาญอย่างทีมสถาปนิก และวิศวกรมาช่วยออกแบบ อย่าคิดเองหรือเชื่อผู้รับเหมามากนัก เพราะจะได้ไม่คุ้มเสียค่ะ
  • การมีแบบแปลนก่อสร้างจากสถาปนิก ทำให้ใช้งบค่าก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากออกแบบบ้านที่ตอบโจทย์แล้วสถาปนิกร่วมกับวิศวกรจะช่วยกันเลือกวัสดุที่เหมาะสมกับขนาดและแบบบ้าน เจ้าของบ้านบางคนอยากประหยัดด้วยการไม่จ้างสถาปนิก แต่กลับต้องเสียเงินจำนวนมากไปกับคำแนะนำที่ไม่ถูกต้องของผู้รับเหมา เช่นให้ฝังเสาเข็มมากเกินความจำเป็น หรือการเลือกวัสดุที่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้าง กลายเป็นเรื่องเสียน้อยเสียยาก การมีแบบแปลนก่อสร้างที่มีรายละเอียดชัดเจน จะช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบค่าก่อสร้างจากผู้รับเหมาหลายๆราย และเลือกรายที่คุ้มค่าได้มากที่สุดค่ะ
  • สถาปนิกเป็นคนสำคัญในการควบคุมให้การสร้างบ้านเป็นไปตามมาตรฐานที่ออกแบบไว้
นอกจากจะทำหน้าที่ออกแบบบ้านแล้ว สถาปนิกจะช่วยตรวจสอบผู้รับเหมาก่อสร้างให้ทำงานตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ เนื่องจากเจ้าของบ้านอย่างเราๆคงไม่คุ้นเคยกับการอ่านแปลนก่อสร้าง ไม่รู้รายละเอียดและสเปคของวัสดุ จึงเป็นช่องโหว่ที่ผู้รับเหมาที่ไม่ซื่อสัตย์สามารถเอาเปรียบได้ เพราะฉะนั้นการมีผู้รู้แบบสถาปนิกคอยช่วยดูแลสอดส่องจึงมีความสำคัญ และนับว่าคุ้มค่ามากค่ะ จากประสพการณ์ที่เราได้ยินมาจากเพื่อนๆ หลายคนที่เสียเงินจ้างสถาปนิกหลักแสนบาท แต่คุ้มค่าเพราะประหยัดค่าก่อสร้างไปได้เป็นหลักล้านเลยทีเดียว
  • มั่นใจได้ว่าบ้านเราสร้างอย่างถูกกฎหมาย
เจ้าของบ้านหลายคนคงไม่ทราบว่าเมืองไทยเรามีกฎหมายควบคุมเรื่องการสร้างบ้านอยู่หลายข้อ ซึ่งเราต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่นการเว้นระยะห่างจากข้างบ้าน หรือจากถนนหน้าบ้าน การกำหนดระบบสาธารณูปโภคในบ้าน ซึ่งรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆเหล่านี้ จำเป็นต้องมีผู้รู้อย่างสถาปนิกช่วยทำหน้าที่ เพื่อหลีกเลี่ยงการมีปัญหาด้านกฎหมาย โดยหลังจากออกแบบบ้านเสร็จ สถาปนิกจะต้องช่วยจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขออนุญาตที่เขตให้เรียบร้อยด้วย เราก็แค่มีหน่าที่ไปยื่นเอกสารเท่านั้นค่ะ

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แบบบ้านสำเร็จรูป vs ออกแบบบ้านใหม่

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านน่าต้องคิดพิจารณาดีๆ เพราะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันพอสมควรอยู่ ว่าแล้วก็จะพยายามเรียบเรียงมาแชร์ให้ฟังคร่าวๆนะคะ ใครเห็นเหมือนเห็นต่างก็อยากให้ช่วยเพิ่มเติมด้วยค่ะ

แบบบ้านสำเร็จรูป
ข้อดีประการแรกเลยก็คือสามารถเลือกแบบที่ถูกใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยบริษัทรับสร้างบ้านแต่ละเจ้าก็จะมีสถาปนิกที่จะช่วยปรับแบบให้เหมาะสมกับที่ดินของเรา (อันนี้เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าแต่ละเจ้าจะสามารถเปลี่ยนแปลงจากแบบดั้งเดิมได้มากน้อยแค่ไหน)

ข้อดีถัดมาก็คือสามารถควบคุมงบประมาณการก่อสร้างบ้านได้ดีกว่าการออกแบบบ้านใหม่ ทั้งนี้เป็นเพราะแบบบ้านมาตรฐานสำเร็จรูปมักมีขนาดพื้นที่ใช้สอยที่แน่นอน และจะกำหนดรายการวัสดุมาตรฐานเอาไว้อย่างละเอียด ซึ่งรายการทั้งหมดจะรวมอยู่ในงบที่บริษัทแจ้งค่าก่อสร้างเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้างบประมาณจะบานปลายจากการที่เจ้าของบ้านอยากเปลี่ยนแปลงวัสดุก็น่าจะไม่มากนัก

ข้อดีอย่างที่สามสำหรับคนที่ไม่อยากยุ่งยากก็คือเจ้าของบ้านไม่ต้องเสียเวลามากมายในการกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆร่วมกับสถาปนิก ทั้งด้านการออกแบบโครงสร้างภายนอก ภายใน การกำหนดพื้นที่ใช้สอย การเลือกวัสดุก่อสร้างชนิดต่างๆ การออกแบบระบบสาธารณูปโภคทั้งหลายทั้งปวง

ข้อเสียที่สำคัญก็คือแบบบ้านสำเร็จรูปก็อาจจะไม่สามารถถูกใจเราไปได้ทั้งหมด เช่นฟังก์ชั่นการใช้สอยไม่ได้ถูกออกแบบขึ้นมาให้เหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตของเราโดยเฉพาะ หรือขนาดของห้องต่างๆที่อาจจะเล็กหรือใหญ่กว่าที่เราอยากให้เป็น หรือในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือการเลือกใ้ช้วัสดุที่ไม่ได้ดั่งใจบ้าง อันนี้ก็ต้องทำใจ

เท่าที่ได้ยินได้ฟังจากเพื่อนๆที่มีประสพการณ์มาก่อน ก็ต้องบอกว่าถ้าสนใจจะเลือกออพชั่นนี้ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกบริษัทรับสร้างบ้านที่ดีไว้ใจได้ ว่าอยู่ในวงการก่อสร้างมานาน ว่าไม่ทิ้งงาน สร้างบ้านได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่โกง ไม่แอบลดสเปควัสดุ ไม่สร้างชุ่ยๆ ไม่ยื้องาน (รายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับการเลือกผู้รับเหมาจะเขียนอีกครั้งต่างหาก) ทางที่ดีน่าจะเลือกบริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพที่เป็นสมาชิกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เพราะทางสมาคมเค้าก็จะมีระเบียบกลไกควบคุมมาตรฐานของสมาชิก ถ้าโชคดีที่มีแบบบ้านสำเร็จรูปที่ถูกใจและเหมาะสมกับที่ดินของเรา ออพชั่นปลูกบ้านสำเร็จรูปก็จะสะดวกสบายมาก เพราะนอกจากจะได้แบบบ้านอย่างรวดเร็วและอยู่ในงบประมาณแล้ว บริษัทรับสร้างบ้านหลายแห่งก็มีบริการติดต่อสินเชื่อธนาคารให้ด้วยค่ะ

สนใจค้นหารายชื่อสมาชิกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้ที่ www.hba-th.org


จ้างสถาปนิกออกแบบบ้านใหม่
ข้อดีของการจ้างสถาปนิกก็คือเป็นการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของเราเป็นพิเศษ (อันนี้อยากเน้นว่าตอบสนองความต้องการของเราเป็นพิเศษ เพราะถ้าเราเองไม่มีไอเดีย ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรเป็นพิเศษก็อยากจะแนะนำว่าให้เลือกแบบบ้านสำเร็จรูปอาจจะดีกว่า) ออพชั่นนี้เหมาะกับคนที่ต้องการความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความต้องการด้านการใช้สอยที่เจาะจง หรือความแตกต่างด้านรสนิยม รวมถึงคนที่มีที่ดินที่มีข้อจำกัด เช่นที่ดินที่หน้าแคบมากๆ

ข้อเสียคือเจ้าของบ้านต้องรอนานกว่าจะกลายเป็นแบบบ้านที่พร้อมจะก่อสร้างได้ ที่สำคัญคือเจ้าของบ้านต้องคุยกับสถาปนิกให้ชัดเจนถึงความต้องการของตัวเองเพื่อให้ได้บ้านที่ถูกใจเราจริงๆ ปัญหาเท่าที่ทราบคือเจ้าของบ้านไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบอะไร แล้วก็เลยบอกไม่ถูก commentก็ไม่ค่อยได้ บางคนถ้าขี้เกรงใจก็ต้องทนอยู่กับบ้านที่ตัวเองไม่ชอบ หรือบางทีก็ทำไป แก้ไป ทุบไปไม่เสร็จซักที

ข้อเสียถัดมาคืองบประมาณมักจะบานปลาย อันนี้เป็นเรื่องยากที่จะกะงบประมาณที่ชัดเจนตั้งแต่ทีแรก เพราะปัจจัยที่จะทำให้งบบานมีมากมายไม่ว่าจะเป็น ขนาดพื้นที่ใช้สอย การเลือกชนิดของโครงสร้างบ้าน รูปแบบการก่อสร้าง การเลือกใช้วัสดุและอื่นๆอีกมากมาย แล้วถ้าทำไปทุบไป งบก็ยิ่งบานเข้าไปใหญ่

ข้อเสียที่สามคือต้องเสี่ยงเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างสถาปนิกโดยที่เราก็ไม่แน่ใจว่าในที่สุดจะได้แบบบ้านที่เราถูกใจจริงๆรึไม่ อันนี้จะโทษสถาปนิกฝ่ายเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะบ่อยครั้งที่แบบบ้านไม่ลงตัวซักทีก็มีสาเหตุมาจากตัวเจ้าของบ้านเองที่อาจจะให้โจทย์ไม่ชัดเจน หรือเปลี่ยนใจไปมา หรือมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ หรืออาจเป็นเพราะปัญหาที่เกิดจากตัวสถาปนิก รวมถึงปัญหาของการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน หรือไม่เข้าตา เข้าทางกันเป็นต้น

ถึงแม้ดูเหมือนจะมีข้อเสียหลายข้อในออพชั่นนี้ แต่ถ้าพิจารณาดีๆแล้วหลายๆคนก็ยังคิดว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ส่วนตัวแล้วเราก็ตัดสินใจจ้างสถาปนิกมาออกแบบบ้านให้เราเหมือนกัน เพราะเราอยากมีบ้านที่เป็นตัวของตัวเอง ถึงแม้จะเหนื่อยกว่า จุกจิกกว่า คุมงบประมาณยากกว่า แต่การมีส่วนร่วมกับสถาปนิกในทุกๆขั้นตอนของการสร้างบ้านในฝันก็เป็นความสุขของเรา เพราะฉะนั้นคนที่ใฝ่ฝันจะมีบ้านสไตล์ของตัวเองก็อย่าลังเลใจเลยค่ะ การจ้างสถาปนิกไม่ได้เป็นการสิ้นเปลืองเลย จริงๆแล้วการมีสถาปนิกกลับช่วยให้คุณประหยัดงบประมาณได้เยอะเลยค่ะ เอาไว้จะเขียนเรื่องนี้โดยเฉพาะในตอนหน้านะคะ


จะสร้างบ้านที่ไหนดี

หลายคนอาจจะไม่มีคำถามนี้ อาจจะเป็นเพราะมีที่ดินอยู่แล้ว แต่หลายคนก็อาจจะยังไม่มีไอเดียว่าจะสร้างที่ไหน เพราะฉะนั้นก็น่าจะถือโอกาสsurveyที่ดินหลายๆที่ ดูว่าย่านไหนที่เราน่าจะรู้สึกดีที่สุดที่จะตั้งรกรากที่นั่น บางคนก็ถนัดที่จะอยู่ในเมืองเพราะไปไหนก็ใกล้ แต่ถ้าจะอยู่ในเมืองต้องทนอึดอัดคับแคบหน่อย เพราะที่ดินในเมืองก็จะแพงมาก แบบบ้านในเมืองก็คงต้องออกมาในแนวด้านตั้งคือมีหลายชั้นหน่อย แต่ถ้ารักความโล่งกว้างก็น่าจะต้องยอมออกนอกเมืองไปอยู่ไกลๆ ถ้ายิ่งไปอยู่ต่างจังหวัดก็ยิ่งสบายเข้าไปใหญ่

แบบบ้านที่จะสร้างก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องกลมกลืนกับที่ดินและสิ่งแวดล้อม สำหรับเราถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากจะมีอิสระที่จะสามารถเลือกที่ดินและแบบบ้านในฝันได้ดั่งใจ แต่ถ้าโชคดีมีโอกาสเลือกได้อย่างนั้นจริงๆก็คงหนักใจอยู่ไม่น้อย เพราะมีบ้านในฝันเยอะแยะไปหมด ถ้าเป็นบ้านปลูกที่เชียงใหม่ก็อยากได้บ้านขรึมๆแต่romantic แบบTamarind Village แต่ถ้าบ้านริมทุ่งนาก็อยากได้บ้านโล่งๆสบายๆ ถ้าเป็นบ้านริมแม่น้ำก็อยากจะให้เป็นเรือนไทยภาคกลางแบบในละครพีเรียดที่มีคุณผู้หญิงนั่งแกะสลักผลไม้อยู่ตรงเรือนกลางบ้าน แต่ถ้าเป็นบ้านริมทะเล เราก็อยากจะได้ประมาณรีสอร์ทZeavolaที่เกาะพีพี แต่พอกลับมาในความเป็นจริง ที่ดินที่กำลังจะสร้างบ้านก็คือที่ที่เราอยู่ปัจจุบันมากว่าสามสิบปีแล้ว เป็นที่ดินจัดสรรในหมู่บ้านสัมมากร ถนนรามคำแหง ขนาด100ตารางวา ที่มีเพื่อนบ้านทุกด้านปลูกชิดรั้ว เลยต้องตื่นจากฝัน แล้วมาตรึกตรองดีๆว่าจะทำยังไงให้ที่แปลงเล็กๆแปลงนี้ เป็นบ้านที่เราจะอยู่อย่างมีความสุขมากที่สุด


ในสภาพที่ดินลักษณะนี้ก็ต้องพยายามออกแบบบ้านที่กลมกลืนกับเพื่อนบ้าน แต่ให้ความเป็นส่วนตัวมากที่สุด เรื่องนี้คงต้องเก็บไว้ปรึกษาสถาปนิก แต่มีแบบที่นึกไว้คืออยากให้เป็นสไตล์modernแบบโชว์เนื้อคอนกรีตเปลือยๆ เพราะเราชอบตึกของโรงเรียนปานะพันธุ์ที่ถูกทุบทิ้งไปแล้ว และสำนักงานหมู่บ้านสัมมากรที่เราเห็นชินตาอยู่ทุกวัน ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ทั้งสองตึกที่เราชื่นชอบนี้ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชื่อคุณองอาจ สาตรพันธุ์ เราก็เลยใฝ่ฝันเสมอมาว่าถ้ามีปัญญาสร้างบ้านใหม่เมื่อไหร่ก็อยากได้บ้านสไตล์นี้แหละ

คงต้องรอดูต่อไปว่าในที่สุดบ้านหลังใหม่บนที่ดิน100ตรว ของเราจะมีแบบหน้าตาออกมายังไง แล้วจะเอาความคืบหน้ามาแชร์เป็นระยะๆนะคะ

อยากมีบ้านใหม่

คิดว่าการมีบ้านหลังใหม่สักหลังคงเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายๆคน แล้วเมื่อไหร่ที่มีความพร้อมในด้านงบประมาณ พร้อมแล้วที่จะมีภาระผูกพันระยะยาวกับการมีบ้าน คราวนี้ก็มีอะไรมากมายที่จะต้องคิดต่อเพื่อสานฝันให้เป็นจริง

ตอนนี้เราเองก็กำลังอยู่ในระยะของการเตรียมการที่จะสร้างบ้านใหม่หนึ่งหลัง หลังจากที่ใฝ่ฝันที่อยากจะสร้างบ้านของตัวเองมาตลอดชีวิต ดูหนังสือตกแต่งบ้านมาตั้งแต่ึ7ขวบ ผ่านตามาคงจะหลายร้อยเล่ม ทั้งหนังสือไทยหนังสือเทศหลากสำนัก คราวนี้พอจะสร้างบ้านใหม่ขึ้นมาจริงๆก็ต้องตั้งหลักอยู่เยอะเหมือนกัน พูดคุยกับเพื่อนๆที่มีประสพการณ์ในการสร้างบ้าน แต่ละคนก็ให้คำแนะนำไม่ซ้ำกันเลย บางคนก็เล่าประสพการณ์ที่ถูกผู้รับเหมาไม่ซื่อสัตย์ บางคนก็แชร์เรื่องผิดพลาดของตัวเอง บางทีก็เป็นเรื่องไม่เข้าขากับสถาปนิก แล้วเพื่อนๆก็ทั้งเตือน ทั้งให้ข้อแนะนำและเทคนิคที่ดีที่จะให้เราประหยัดได้ในหลายๆอย่าง เราก็เลยมีความคิดว่าเราน่าจะเอาประสพการณ์เหล่านี้ของเพื่อนๆ และก็ที่เรากำลังจะประสพด้วยตัวเองมาเขียนในblog เพราะเชื่อว่าจะมีประโยชน์กับหลายๆคนที่คิดจะสร้างบ้าน

ถ้ามีเวลาก็จะพยายามเอาเรื่องมาแชร์ให้ทุกขั้นตอนให้มากที่สุด ถ้าใครบังเอิญได้มาอ่านblogนี้ก็อยากให้ช่วยแชร์ประสพการณ์ไปด้วยกันนะคะ